ทำไมจึงต้องมีสื่อกิจกรรมชีวิตประจำวันในห้องเรียนของมอนเตสซอรี่

ระยะแรกเริ่มที่เด็กเข้ามาสู่ห้องเรียนของมอนเตสซอรี่ สื่อกิจกรรมชีวิตประจำวันคือกิจกรรมแรกๆที่เด็กจะได้รับการแนะนำ ด้วยเหตุผลดังนี้

  • กิจกรรมชีวิตประจำวันจะเป็นการเตรียมความพร้อมเด็กก่อนที่จะเริ่มกิจกรรมอื่นๆในห้องเรียน
  • เด็กจะได้รับการแนะนำให้รู้จัก “วงจรการทำงาน” จากกิจกรรมเหล่านี้
  • เด็กจะได้เรียนรู้วิธีแก้ไขข้อผิดพลาดในการทำงานด้วยตนเองโดยการใช้ตัวควบคุมความผิดพลาด

กิจกรรมชีวิตประจำวันจะมีจุดมุ่งหมายอยู่สองประการคือ

  • จุดมุ่งหมายโดยตรง

               เพื่อสอนให้เด็กมีทักษะต่างๆ ตามจุดประสงค์ของแต่ละกิจกรรม เช่น จุดประสงค์ของกิจกรรมการร้อยลูกปัดก็เพื่อให้เด็กรู้วิธีการร้อยลูกปัดลงบนเชือก สิ่งสำคัญที่ไม่ควรลืมก็คือจุดประสงค์โดยตรงของแต่ละกิจกรรมที่จะช่วยให้เด็กทำสิ่งต่างๆ ได้ด้วยตนเอง ดังนั้นในการจัดกิจกรรมชีวิตประจำวันแต่ละอย่าง ครูต้องสามารถแยกแยะได้อย่างชัดเจนว่าแต่ละกิจกรรมที่จัดให้เด็กนั้นมุ่งสอนให้เกิดทักษะในด้านใด

  • จุดมุ่งหมายโดยอ้อม

               “กิจกรรมชีวิตประจำวัน” ดูเหมือนเป็นสิ่งที่ไม่สำคัญอะไรเพราะเราทำเป็นกิจวัตรอยู่แล้ว เช่น เราต้องใส่เสื้อผ้าเองทุกๆวัน แต่ที่จริงแล้วสิ่งเหล่านี้ถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับหลักการทั้งหมดของระบบมอนเตสซอรี่เพราะเป็นสิ่งที่มีผลอย่างยิ่งกับพัฒนาการทุกๆด้านของเด็ก การได้ทำกิจกรรมชีวิตประจำวันนั้น ไม่เพียงแต่ให้เด็กได้เตรียมความพร้อมตนเองสำหรับการทำงานอื่นๆต่อไปเท่านั้น แต่ยังช่วยพัฒนาด้านอารมณ์ และทักษะทางสังคม รวมทั้งเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม พัฒนาทักษะทางกายภาพ และก่อให้เกิดความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคมด้วย หรือจะกล่าวให้ถูกก็คือเป็นการเตรียมความพร้อมในการดำรงชีวิตให้กับเด็กนั่นเอง “โดยไม่ควรจะเน้นความสำคัญตรงคำว่า ประจำวัน แต่ควรเน้นความสำคัญตรงคำว่า ชีวิต มากกว่า”

จุดมุ่งหมายโดยอ้อมนั้นมีดังนี้

  • เพื่อพัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง

                จากกิจกรรมชีวิตประจำวันเด็กจะได้เรียนรู้ทักษะต่างๆ ซึ่งจะทำให้เด็กกลายเป็นคนที่มีความเป็นตัวของตัวเอง ตั้งแต่แรกเกิดเด็กจะพยายามที่จะเป็นตัวของตัวเอง และผู้ใหญ่ที่อยู่รอบข้างควรช่วยเด็กพัฒนาด้านเหล่านี้ ด้วยการสาธิตวิธีการฝึกทักษะต่างๆ ให้เด็กดูเป็นตัวอย่าง อย่างรอบคอบและถูกต้อง และเมื่อเด็กได้เห็นตัวอย่างจากผู้ใหญ่แล้วเด็กจะต้องการอิสระและโอกาสที่จะฝึกฝนและทำสิ่งเหล่านี้ให้สำเร็จด้วยตนเอง และยิ่งเด็กมีความเป็นตัวของตัวเองมากเท่าไหร่ เด็กก็จะยิ่งเกิดความมั่นใจในตนเองมากขึ้นเท่านั้น

  • เพื่อพัฒนาความมีสมาธิ

                เมื่อเด็กเกิดความใส่ใจอยู่กับกิจกรรมอย่างลึกซึ้ง จะทำให้เกิดการพัฒนาความมีสมาธิซึ่งจะเป็นสิ่งที่จะติดตัวเด็กไปตลอดชีวิต และถ้ากิจกรรมนั้นๆตรงกับความต้องการและความสนใจของเด็ก เด็กก็จะทำกิจกรรมนั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนพอใจ ซึ่งเป็นการเพิ่มพูนการพัฒนาการเกิดสมาธิให้กับเด็กมากยิ่งขึ้น

  • เพื่อพัฒนาความชำนาญในทักษะด้านต่างๆ และการทำงานประสานสัมพันธ์ของกล้ามเนื้อมือ

                กิจกรรมชีวิตประจำวันดูจะเป็นอะไรที่ธรรมดาสามัญ แต่จริงๆ แล้วกิจกรรมเหล่านี้จะทำให้เด็กได้พัฒนากล้ามเนื้อเคลื่อนไหวทั้งกล้ามเนื้อมัดใหญ่และกล้ามเนื้อมัดเล็ก เด็กที่ทำกิจกรรมชีวิตประจำวันต่างๆเช่น ย้ายเก้าอี้ เทของเหลว หรือร้อยลูกปัดขนาดต่างๆ จะได้รับการพัฒนาด้านการควบคุมการเคลื่อนไหว กิจกรรมการขัดเงาและชุดอุปกรณ์การแต่งกายจะช่วยพัฒนาการทำงานประสานสัมพันธ์ของมือและตา กล้ามเนื้อมือของเด็กจะได้รับการพัฒนาทางอ้อมเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการจับดินสอและการเขียนหนังสือ

  • เพื่อพัฒนาทักษะทางสังคม

                การเห็นคุณค่าในตนเอง  ขณะที่เด็กกำลังพัฒนาทักษะชีวิตประจำวันนั้น เด็กจะมีความเป็นตัวของตัวเองและมีความมั่นใจในตนเองมากขึ้น เด็กจะสามารถทำอะไรหลายๆ อย่างได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น จึงทำให้เกิดความรู้สึกถึงคุณค่าในตนเองเพิ่มมากขึ้นและในทางที่ดีขึ้น เด็กอาจสามารถช่วยสาธิตการทำกิจกรรมให้เด็กที่เล็กกว่า ซึ่งจะทำให้เด็กเกิดความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าและเป็นการเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจให้กับตัวเด็กเองด้วย
                การมีจิตสำนึกต่อสังคม  กิจกรรมชีวิตประจำวันหลายๆ กิจกรรมจะเกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก เช่น การดูแลต้นไม้ การเก็บกวาดทำความสะอาดพื้น จะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ว่าที่สิ่งที่ทำนั้นไม่ใช่แค่เพื่อตัวเองเท่านั้น แต่ยังเป็นการทำเพื่อส่วนรวมด้วย ทำให้เด็กเกิดความรู้สึกของการมีจิตสำนึกต่อผู้อื่นและสังคมโดยรวม นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมอีกหลายๆ กิจกรรมที่เด็กต้องทำงานร่วมกับผู้อื่น ทำให้เด็กได้เรียนรู้วิธีการปรับตัวให้เข้ากับผู้อื่นด้วย
                ทักษะทางสังคม  เด็กจะได้รับการพัฒนาทักษะทางสังคมจากกิจกรรมการฝึกมารยาทและการเข้าสังคมและยังได้เรียนรู้พฤติกรรมที่พึงปฏิบัติทั้งในวัฒนธรรมของตนเองและของผู้อื่น ในห้องเรียนของมอนเตสซอรี่นั้นจะไม่คาดหวังและปล่อยให้เด็กเกิดมารยาทขึ้นมาเอง แล้วตำหนิหรือดุด่าว่ากล่าวเมื่อเด็กไม่ปฏิบัติ แต่เราจะมีกิจกรรมที่สอนให้เด็กกล่าวทักทาย กล่าวขอโทษ กล่าวลา ฯลฯ และเราต้องปฏิบัติตัวเป็นตัวอย่างที่ดีให้เด็กเห็นอยู่ตลอดเวลาด้วย

  • เพื่อพัฒนาสติปัญญา

                กิจกรรมทุกกิจกรรมในชีวิตประจำวัน จะช่วยพัฒนาสติปัญญาให้กับเด็กด้วย จากการที่เด็กได้ซึมซับข้อมูลความรู้ต่างๆ จากสิ่งแวดล้อมรอบตัวอยู่ตลอดเวลา เด็กจะได้เรียนรู้ว่าจะหากิจกรรมที่ต้องการได้จากที่ไหนและจะจัดการพื้นที่ทำงานของตนเองอย่างไร และเด็กจะเริ่มเกิดความพึงพอใจกับขั้นตอนของการทำกิจกรรมต่างๆ เด็กจะรู้ว่าต้องซักผ้าที่สกปรกไม่ใช่ผ้าที่สะอาด หรือว่าต้องทำยังไงเมื่อข้าวหรือถั่วหก เด็กเรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้ากับผู้อื่นและสิ่งต่างๆ รอบตัวและกระตือรือร้นอย่างมีขอบเขตและใช้สิ่งเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์  นอกจากนั้นเด็กยังได้พัฒนาทักษะด้านภาษาและได้รับการปูพื้นฐานทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ด้วย

  • เพื่อพัฒนาความมีระเบียบวินัยและการรู้จักควบคุมตนเอง

                มอนเตสซอรี่สังเกตว่าเด็กทุกคนจะมีความมีระเบียบวินัยในตัวอยู่แล้วโดยธรรมชาติ และจะมีช่วงภาวะที่เด็กจะเรียนรู้เกี่ยวกับระเบียบวินัยได้อย่างง่ายดายเป็นพิเศษในช่วง 6 ปีแรกของชีวิต สิ่งแวดล้อมในห้องเรียนของมอนเตสซอรี่จึงมีการจัดวางทุกอย่างไว้เป็นที่เป็นทาง เด็กจะได้เรียนรู้การเก็บของเข้าที่ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวงจรกิจกรรมการทำงาน ดังนั้นเด็กจะรู้จักการจัดเก็บของเข้าที่เพื่อให้การทำกิจกรรมครบวงจรอย่างสมบูรณ์และเพื่อให้แน่ใจได้ว่าอุปกรณ์ทุกอย่างจะพร้อมสำหรับคนอื่นที่ต้องการทำกิจกรรมต่อไปด้วย เด็กจะได้รับการสอนให้ทำกิจกรรมใหม่ๆอย่างถูกต้องเป็นระบบขั้นตอนจนเสร็จทุกกิจกรรม และทำซ้ำๆ ได้เท่าที่เด็กต้องการแล้วนำกลับไปวางที่ชั้นเมื่อทำเสร็จแล้ว ซึ่งทำให้เด็กเกิดกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบและช่วยพัฒนาความมีระเบียบวินัยในตนเอง
                กิจกรรมชีวิตประจำวันทุกกิจกรรมจะมีตัวควบคุมความผิดพลาด เช่น มีฟองน้ำชิ้นเล็กๆ สำหรับเช็ดของเหลวที่หกเลอะเทอะ เพื่อให้เด็กได้เช็ดทำความสะอาดด้วยตนเองเวลาทำกิจกรรม โดยไม่ต้องขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น ซึ่งเป็นการพัฒนาให้เกิดความมั่นใจในตนเองและรู้จักควบคุมตนเอง

  • เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์

                กิจกรรมชีวิตประจำวันทุกกิจกรรมจะมี จุดสำคัญ เพื่อให้เด็กสังเกตและเกิดความตระหนักว่าตนเองกำลังทำอะไรอยู่  เช่น ลูกแก้วที่สวยงามนี้มีไว้สำหรับเทหรือสำหรับแยก เหยือกเอาไว้สำหรับเท ลูกปัดที่สวยงามไว้สำหรับร้อย ผ้าที่มีรอยเส้นไว้สำหรับกิจกรรมการพับ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่กิจกรรมชีวิตประจำวันจะช่วยเสริมสร้างและพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ให้กับเด็กได้ ดังนั้นเราสามารถใช้อุปกรณ์และเครื่องมือที่หลากหลาย เพื่อช่วยกระตุ้นความสนใจและพัฒนาทักษะต่างๆให้กับเด็ก
                เด็กโตที่ได้รับการพัฒนาทักษะการใช้กล้ามเนื้อมือแล้ว จะชอบการออกแบบและสร้างสรรค์กิจกรรมของตนเองแล้วทำให้เด็กเล็กๆ ดู เช่นการขัดทำความสะอาด และเติมลมยางลูกฟุตบอล
                การเฉลิมฉลองเทศกาลต่างๆในห้องเรียน การจัดโครงการต่างๆที่น่าสนใจ รวมทั้งกิจกรรมเกี่ยวกับประเพณีและวัฒนธรรม สามารถเสริมเข้าไปในกิจกรรมชีวิตประจำวันได้เพื่อให้มีสิ่งใหม่ๆที่น่าสนใจอยู่เสมอ
                กิจกรรมชีวิตประจำวันต่างๆจะช่วยให้เด็กเกิดการพัฒนาอย่างเป็นธรรมชาติ 

วงจรกิจกรรม

                “วงจรกิจกรรม (cycle of activity)” หมายถึง กระบวนการทุกขั้นตอนของการทำกิจกรรม ตั้งแต่ต้นจนจบ ในระบบห้องเรียนของมอนเตสซอรี่  ซึ่งมีความหมายคนละอย่างกับคำว่า “วงจรการทำงาน (work cycle)”

               เมื่อเด็กเริ่มเข้ามาสู่ห้องเรียนเป็นครั้งแรก เด็กจะได้รับการแนะนำสื่อกิจกรรมชีวิตประจำวันก่อน และนี่คือวิธีการสอนให้เด็กรู้จักวงจรของกิจกรรม

                ลำดับที่ 1                ครูชักชวนให้เด็กทำกิจกรรม
                ลำดับที่ 2                ครูนำเด็กไปที่ชั้นวางสื่อ แนะนำให้เด็กรู้จักสื่อและชื่อของอุปกรณ์ที่ครูจะ
                                             สาธิต เช่น นี่คือชุดอุปกรณ์เครื่องแต่งกาย กระดุมใหญ่
                ลำดับที่ 3                จากนั้นครูก็สาธิตวิธีการถือกรอบเครื่องแต่งกายและให้เด็กเลือกโต๊ะที่จะ
                                             ทำกิจกรรม จากนั้นให้เด็กถือกรอบไม้เครื่องแต่งกายไปทำกิจกรรม ณ                              
                                             พื้นที่ทำงานที่เด็กเลือก
                ลำดับที่ 4                ครูนั่งลงข้างๆเด็ก โดยนั่งข้างฝั่งที่เด็กถนัด
                ลำดับที่ 5                จากนั้นครูวางกรอบไม้เครื่องแต่งกายไว้ข้างหน้าเด็กและสาธิตการทำ
                                             กิจกรรมอย่างช้า ๆ ละเอียด และถูกต้อง โดยไม่ทำขั้นตอนไดๆที่ไม่
                                             จำเป็น และทำอย่างเบามือ
                ลำดับที่ 6                จากนั้นชักชวนให้เด็กลองทำกิจกรรม
                ลำดับที่ 7                เมื่อเด็กทำเสร็จแล้ว ครูถามเด็กว่า อยากทำอีกหรือไม่ ถ้าเด็กปฏิเสธ ก็
                                             ให้ครูอธิบายกับเด็กว่า เด็กจะนำอุปกรณ์นี้มาทำกิจกรรมอีกเมื่อไหร่ก็ได้
                                             ตามที่ต้องการและเด็กก็สามารถทำกิจกรรมนี้ด้วยตนเองได้ จากนั้นให้ครู
                                             สาธิตวิธีการเก็บอุปกรณ์กลับเข้าที่ และอธิบายกับเด็กว่าทุกครั้งจะต้อง
                                             เก็บอุปกรณ์เข้าที่ให้เรียบร้อย เพื่อที่คนอื่นจะได้ใช้ต่อไป              

                นี่คือวงจรของการทำกิจกรรมหนึ่งๆ ซึ่งจะถือว่าครบสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อได้เก็บอุปกรณ์กลับเข้าที่เดิมแล้ว ครูจะต้องทำกิจกรรมให้ครบวงจรเช่นนี้ และคอยย้ำเตือนเด็กอยู่เสมอ เด็กก็จะตระหนักและรู้สึกพึงพอใจกับการเก็บสิ่งต่างๆในห้องเรียนให้เข้าที่อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย

การเคลื่อนไหวอย่างเป็นขั้นตอน

               ดร.มาเรีย มอนเตสซอรี่ ใช้เวลามากมายในการเฝ้าดูเด็กในความดูแลของเธอและสังเกตทุกๆ กิจกรรมที่เด็กทำ ทำให้เธอได้ตระหนักว่าการเคลื่อนไหวมีส่วนสำคัญอย่างไรในการสร้างความเฉลียวฉลาดให้กับเด็ก ตั้งแต่การเคลื่อนไหวเมื่อแรกคลอด เด็กจะพยายามเรียนรู้โลกรอบตัวด้วยการใช้ประสาทสัมผัสและการเคลื่อนไหวร่างกายอยู่ตลอดเวลาเพื่อค้นหาและรับรู้ข้อมูลต่างๆ เด็กจะเรียนรู้จากการกระทำ โดยส่วนใหญ่เด็กจะได้รับข้อมูลจากประสาทสัมผัสแล้วผ่านกระบวนการแปรเปลี่ยนเป็นความรู้เก็บไว้ ดังนั้นในห้องเรียนของมอนเตสซอรี่เราจึงเน้นที่คุณภาพของกิจกรรมต่างๆที่เราจัด เพื่อให้เด็กได้รับข้อมูลและรายละเอียดที่ถูกต้อง ชัดเจน และเป็นขั้นตอน ซึ่งจะทำให้เด็กเข้าใจได้ง่ายและเกิดความมีระเบียบวินัย

               ในแต่ละวงจรของกิจกรรม จะมีขั้นตอนต่างๆของการเคลื่อนไหวซึ่งมีจุดมุ่งหมายโดยตรงและเป็นระบบ ซึ่งเมื่อรวมเข้าด้วยกันก็จะกลายเป็นหนึ่งกิจกรรม เช่น ตัวอย่างการเปิดประตู

                1. ไปที่ประตู
                2. ยกแขน
                3. จับลูกบิดแล้วหมุน
                4. ดึงประตูออกมานิดหนึ่ง
                5. ปล่อยลูกบิดหมุนกลับ
                6. ดึงประตูเปิดออก

               ผู้ใหญ่อาจจะทำแบบรีบๆ โดยรวมขั้นตอนที่สามและสี่เข้าด้วยกัน หรือเขย่าลูกบิด ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดขัดหรือลูกบิดหลุดมือ ทำให้ไม่สามารถเปิดประตูได้ และเสียทั้งเวลาและพลังงานโดยใช่เหตุ

               ในห้องเรียนมอนเตสซอรี่ ครูจะพยายามสาธิตทุกขั้นตอนเล็กๆ น้อยๆ ที่จำเป็นและพยายามหลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวหรือการกระทำบางอย่างที่อาจทำให้เด็กเกิดความสับสน ด้วยวิธีนี้จะเป็นการกำหนดแนวทางให้เด็กปฏิบัติตามได้สำเร็จด้วยตนเอง เพราะครูได้เน้นการสัมผัสด้วยประสาทต่างๆ หลากหลายที่จะทำให้เด็กเกิดการซึมซับ เด็กจึงสามารถรับรู้และเข้าใจขั้นตอนต่างๆ อย่างชัดเจนและอย่างเป็นระบบ อันจะเป็นประโยชน์อย่างมากมายในอนาคต และนี่คือเหตุผลว่าทำไมเราจึงเน้นให้เด็กแต่ละคนได้เลือกกิจกรรมต่างๆด้วยตนเองเพื่อสนองต่อความต้องการที่แตกต่างของเด็กแต่ละคนด้วย

               “เด็กที่ได้แสดงออกอย่างอิสระนั้น ไม่เพียงแต่จะสามารถค้นหาและเก็บรวบรวมความรู้สึกประทับใจจากสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังแสดงออกถึงความรักที่จะแสดงออกถึงตัวตนที่แท้จริงด้วย”